เด็กติดเกมส์มีโอกาสเลียนแบบพฤติกรรมรุนแรงจากในเกมส์ได้จริงหรือไม่

สังคมยุคใหม่กำลังเจอปัญหากับเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตของพวกเขา โดยเฉพาะวีดีโอเกมที่สร้างความบันเทิงให้กับเรามาหลายสิบปี แต่ปัญหาที่ตามมาคือเมื่อมีผู้ที่ใช้เวลากับมันมากเกินไป มันจะสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘การเสพติด’ หรือการติดเกมนั่นเอง และกลุ่มเสี่ยงที่สุดที่หลายคนกังวลมากเป็นพิเศษ ก็คือกลุ่มเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ที่อาจเสี่ยงต่อการเลี่ยนแบบพฤติกรรมความรุนแรง แต่มันจะเป็นอย่างนั้นจริงหรือ สรุปแล้วมันเป็นที่ตัวบุคคล หรือเกมเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้จริง เราจะมาหาคำตอบกันในบทความนี้

เข้าใจความหมายของคำว่า ‘ติดเกม’

ก่อนที่เราจะไปเข้าหัวข้อประเด็นหลัก เราเข้าใจกันดีหรือกับคำว่า ‘เสพติด’ ซึ่งในตามหลักแล้วคำนี้มักจะใช้กับผู้ที่ใช้ยาเสพติดมากกว่า แต่ทุกวันนี้หลายคนเริ่มใช้คำนี้มากขึ้น เพื่ออธิบายพฤติกรรมของกลุ่มคนที่มีความชอบ หรือการทำอะไรซ้ำๆ จนเกิดเป็นความเคยชินและไม่สามารถเลิกพฤติกรรมนั้นได้ เราเรียกอาการนี้ว่าการเสพติด เด็กที่ติดเกมจะรู้สึกสนุกที่ได้เล่นเกมติดต่อกันหลายชั่วโมง ในขณะที่จะรู้สึกหงุดหงิดมากถ้าถูกห้ามหรือขัดจังหวะระหว่างการเล่นเกม แต่ที่น่ากังวลมากกว่าเวลาที่เขาสูญเสียไปให้กับเกมนั้น คือการที่ชีวิตของเด็กเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหนระหว่างการเล่นเกมต่างหาก

สรุปแล้วเป็นความจริงไหมที่เด็กจะเลียนแบบจากเกม

จากผลการทดสอบของผู้เข้าร่วมจำนวน 3,000 คน ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ทำให้เราได้ทราบอย่างชัดเจนแล้วเด็กไม่ได้เลียนแบบพฤติกรรมจากเกมโดยตรง โดยเฉพาะการเล่นเกมที่มีความรุนแรง เช่น การยิง หรือ การฆ่าฟัน ไม่ได้หมายความว่าจะเพิ่มพฤติกรรมที่รุนแรงของผู้เล่น และยังทำให้เรารู้อีกว่าประเภทของเกมที่มีผู้คนติดมากเป็นพิเศษคือเกมแนว ‘แฟนตาซี’ ที่จะให้ผู้เล่นได้สวมบทบาทเป็นตัวละครภายในเกม อย่างไรก็ตามมันยังคงมีการศึกษาที่ไม่เพียงพอว่าสรุปแล้วเราจะตัดเกมทิ้งออกไปได้หรือไม่ แต่ที่น่าเป็นห่วงมากกว่าสิ่งอื่นใด ก็คือเรื่องความเครียดของเด็กในครอบครัว หรือปัญหาการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียนที่เป็นแรงพลักดันความรุนแรงมากกว่า

วิธีการป้องกันสำหรับผู้ปกครอง

สัญญาณของการติดเกมสามารถพบเห็นได้ตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกมากับมือถือ เมื่อเริ่มโตเด็กจะไม่สามารถอยู่ได้โดยปราศจากมือถือ พวกเขาจะเล่นเกมติดต่อกันนานเป็นชั่วโมง เมื่อโตขึ้นอาจหนักถึงขั้นปล่อยให้ผลการเรียนตกต่ำเพราะมัวแต่เล่นอยู่กับวีดีโอเกม เราไม่ได้มุ่งเน้นว่าเด็กจะเลียนแบบพฤติกรรมในเกมมากน้อยแค่ไหนเพียงอย่างเดียว แต่เราต้องการให้เขาเล่นเกมอย่างเหมาะสมเพื่อไม่ให้มันมาทำลายชีวิต หรืออนาคตของพวกเขา และด้านล่างนี้เป็นเทคนิคการดูแลเด็กสำหรับพ่อแม่ให้นำไปปรับใช้ในครอบครัว

หลีกเลี่ยงการให้เด็กเล่นเกมก่อนถึงวัยอันควร หรืออย่างน้อยไม่ต่ำกว่าอายุ 10 ปี

ตรวจสอบความเหมาะสมของเกมที่จะนำมาให้เล่น โดยเฉพาะเนื้อหาและประโยชน์ที่จะได้รับ

พยายามมีส่วนร่วมในการเล่นเกมกับเด็ก เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ที่จะได้รับจากการเล่นเกม

วางระเบียบในบ้านที่มีความเข้มงวด ว่าเกมประเภทไหนที่สามารถเล่นได้ รวมถึงระยะเวลาในการเล่น

หมั่นสอดส่องดูพฤติกรรมการเล่นของเด็ก โดยเฉพาะในเกมที่มีระบบออนไลน์

อนุญาตให้เล่นได้เฉพาะในห้องที่สามารถสังเกตได้ในบ้าน ยกตัวอย่างเช่นห้องนั่งเล่น

จำเอาไว้ว่าเด็กจะเลียนแบบพฤติกรรมของพ่อแม่มากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเกมที่คุณเลือกเล่น

ให้เด็กเล่นเกมได้ในเฉพาะเวลาที่ทำงานบ้าน หรือการบ้านเสร็จแล้วเท่านั้น

สนับสนุนให้ทำกิจกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากการเล่นเกม